วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

กฎหมายใหม่ เมาแล้วขับ คุก 10 ปี




กฎหมายใหม่ เมาแล้วขับ คุก 10 ปี
ทนายคลายทุกข์ขอนำข่าวเกี่ยวกับพรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 7 ซึ่งมีบทลงโทษขี้เมาขับรถ จำคุกถึง 10ปี ปรับ 200,000 บาทและเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2550 และช่วงนี้ตำรวจจราจรก็จะเริ่มเข้มงวด ขอให้เพื่อนสมาชิกใช้ความระมัดระวัง อย่าขับรถถ้าเมาสุรา ผมไม่มีเวลาเอาโอเลี้ยงกับข้าวผัดไปเยี่ยม ต้องพึ่งพาคุณชูวิทย์นะครับ

โทษใหม่ 'เมาแล้วขับ'ชนคนตายไม่ใช่แค่เป็นพรีเซ็นเตอร์
เพิกถอนใบขับขี่ ติดคุก 10 ปี ถูกปรับ 2 แสนบาท
คนไทยได้รับการจัดลำดับให้เป็นประเทศที่บริโภคสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก นับเป็นท็อปชาร์ตที่ประเทศไหน ๆ ในโลกก็คงไม่พิสมัยจะให้มีชื่อปรากฏเป็นลำดับต้น ๆ
ผลพวงอันเนื่องมาจากการดื่มสุราเป็นที่ทราบกันดีว่านำมาซึ่งความสูญเสียหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการขาดสติที่มีสาเหตุมาจากการดื่มสุรา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทุกครั้งที่มีเทศกาลรื่นเริงก็จะกลายเป็นเทศกาลนับศพกันอย่างที่เห็น มาตรการที่ภาครัฐได้ออกมารณรงค์ทั้งในการป้องกันและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ก็ยังไม่สามารถลดสถิติการตายและการบาดเจ็บของประชาชนในช่วงที่มีเทศกาลรื่นเริงที่มากับความเมาได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่รุนแรงจึงไม่ส่งผลกระตุ้นความสำนึกรับผิดชอบของคนใช้รถใช้ถนนได้เหมือนประเทศอื่น ที่เพียงแค่ตรวจพบแอลกอฮอล์ยังไม่ไปชนใคร ก็มีโทษปรับเป็นหลักหมื่นบาท จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแม่งานหลัก ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิเมาไม่ขับและพันธมิตรในการลดอุบัติเหตุ ได้เสนอแก้ไขเพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่เมาสุราขณะขับรถ โดยได้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2546 และมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขมาหลายครั้งตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ในที่สุดการแก้ไขกฎหมายก็นำมาสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดูแลงานจราจร เปิดเผยว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านความเห็นชอบ แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 7) เกี่ยวกับการเพิ่มโทษผู้ขับขี่ขณะเมาสุรา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. หรือในช่วงปลายปี 2550 โดยในการประชุมบริหารงานจราจรประจำเดือนมกราคม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตั้งด่านตรวจจับผู้ขับขี่ที่มึนเมาสุราได้แจ้งข้อมูลให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้ทราบ ซึ่ง การกำหนดโทษตามกฎหมายใหม่นี้จะมีโทษสูงตามลำดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ ไม่เหมือนกับกฎหมายเก่าที่ผ่านมา ที่ไม่ว่าผู้ขับขี่รถจะเพียงแค่มีแอลกอฮอล์เกินกว่าปกติ หรือไปก่อเหตุชนคนตาย ก็มีโทษตามพ.ร.บ.จราจรทางบกเท่ากันคือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม 12-48 ชั่วโมง ถูกบันทึกคะแนน 40 คะแนน ยึดใบอนุญาตขับขี่ 15 วัน จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าว ยังมีความปรานีต่อผู้กระทำผิดมาก เพราะศาลจะใช้ดุลพินิจตัดสินโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะสั่งทั้งจำคุกและปรับก็ได้ แต่ในกฎหมายใหม่นี้ จะมีโทษในเรื่องของการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เข้ามาด้วยเป็นคำสั่งที่มีผลในทุกกรณี ไม่ว่าจะเพียงแค่ขับขี่รถในขณะเมาสุรา หรือการขับขี่ในขณะเมาแล้วไปก่ออุบัติเหตุทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งคำสั่งในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ก็จะมีระยะเวลายาวนานขึ้นตามระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ และศาลมีอำนาจตัดสินถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เลยก็ได้ ซึ่งหมายถึงบุคคลนั้นจะไม่สามารถขับขี่รถได้อย่างถูกกฎหมายอีกต่อไป สำหรับคนที่มีอาชีพในการขับรถแล้วยิ่งต้องเพิ่มความตระหนักในเรื่องนี้เพราะมิฉะนั้นก็คือหมดหนทางทำมาหากินด้วยการขับรถเป็นการถาวร
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวต่อว่า จากสถิติการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ดื่มสุราในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2550 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. พบว่า มีการเรียกตรวจวัดทั้งหมด 117,581 ราย พบมีแอลกอฮอล์ 23,282 ราย และมีแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องส่งดำเนินคดี ทั้งหมด 15,811 ราย เป็นชาย 15,668 ราย หญิง 143 ราย และแบ่งตามประเภทรถ เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ 7,642 ราย รถจักรยานยนต์ 7,953 ราย และรถบรรทุก 217 ราย จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีคนเมาถึงขั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ (แอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ที่ถูกจับกุมเฉลี่ย 1,317 ราย ต่อเดือน และมีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังขับรถ ที่ตรวจ พบเฉลี่ย เกือบ 2,000 รายต่อเดือน และยังมีผู้ขับขี่นอกจากนี้ที่เมาสุราแต่ไม่ได้ผ่านในเส้นทางที่ตำรวจตั้งด่านอีก ซึ่งทำให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ ในขณะที่สถิติการแจ้งอุบัติเหตุทั้งปี 46,899 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 671 ราย บาดเจ็บสาหัส 1,742 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 18,855 ราย และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 369.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงความสูญเสียของกรุงเทพฯจังหวัดเดียวในปีเดียวเท่านั้น
การแก้ไขปรับปรุงเพิ่มโทษ ?เมาแล้วขับ? ครั้งนี้ คงจะทำให้คนใช้รถใช้ถนนมีสติในการขับขี่มากขึ้น เพราะหากขับไปชนคนตายเข้า งานนี้แม้จะเป็นคนดังก็คงไม่ใช่แค่เป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ลดอุบัติเหตุเท่านั้น แต่จะหมดสิทธิขับรถไปตลอดชีวิต และมีสิทธิติดคุกถึง 10 ปี และถูกปรับสูงถึง 200,000 บาท.
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจากhttp://www.dailynews.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น