วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

การปกครองของประเทศเกาหลีไต้


การเมืองการปกครองของประเทศเกาหลี

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ (มักเรียกว่าเส้นขนาน 38) โดยสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือมีการปกครองระบอบสังคมนิยม ส่วนสหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีใต้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู กวางจู แตชอน)

รัฐธรรมนูญ
เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ แรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

ฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือก ตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน
อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ

ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา
คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 20 คน นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วย สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมการเกี่ยวกับสิทธิสตรี สภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย

ฝ่ายตุลาการ
ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของ ประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ (โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้น ต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมาย ของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

พรรคการเมือง
เมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2538 เกิดการรวมตัวของ 3 พรรคใหญ่ คือ
1. พรรค Democratic Justice Party-DJP
2. พรรค Reunification Democratic Party-RDP และ
3. พรรค New Democratic Republican Party-NDRP และตั้งชื่อว่าพรรค New Korean Party-NKP

ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ธ.ค. 2540 ได้เกิดพรรคใหม่คือ
1. พรรค Grand National Party -GNP (ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรค NKP กับพรรค New Party by the People)
2. พรรค Millennium Democratic Party-MDP ซึ่งมีนาย คิม แด จุง เป็นหัวหน้าพรรค และ
3. พรรค United Liberal Democrats-ULD ซึ่งมีนาย คิม จอง พิล เป็นหัวหน้าพรรค

โดยพรรค MDP กับพรรค ULD ได้ร่วมกันส่งนายคิม แด จุง เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะ โดยนาย คิม จอง พิล ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาพรรค ULD ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปัจจุบันมีพรรคฝ่ายค้าน (Grand National Party-GNP) และพรรครัฐบาล (Millennium Democratic Party-MDP) และพรรคฝ่ายค้านเสียงส่วนน้อย (United Liberal Democrats-ULD) ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน GNP สามารถคุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภารวม 139 ที่นั่ง ทั้งนี้เมื่อ 15 เม.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้สมัยที่ 17 โดยเป็นการเลือกสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 299 ที่นั่งประกอบด้วยการเลือกตั้งโดยตรง 243 ที่นั่ง และจากสัดส่วนพรรค (party list) 56 ที่นั่ง ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการพรรค Uri ได้คะแนนเสียงข้างมากส่งผลให้พรรค Uri กลายเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม พรรค Uri ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม 6 ครั้งในเดือนเมษายน 2548 ทำให้พรรค Uri ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แพ้ในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนตุลาคม 2548 อีก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหามากขึ้น

ที่มา : http://www.happytokorea.com/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=11&id=1702&Itemid=142

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น