วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของปรัชญาการเมือง





1. ปรัชญาการเมืองคลาสสิก (Classical Political Philosophy)

มีโซเครติสเป็นผู้เริ่มต้น สืบทอดและพัฒนาโดยเพลโต้และเจริญถึงขีดสุดในสมัยอริสโตเติ้ล โดยมีแนวคิดที่สำคัญคือ เป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อดำรงรักษาและพัฒนาชุมชนขนาดเล็กให้มีความเจริญก้าวหน้าในการปกครองตนเอง มีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญใบประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ
ปรัชญาการเมืองยุคนี้ พิจารณาเป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมืองคือคุณธรรม โดยเห็นว่าความเสมอภาคหรือประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งสูงสุด เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้มีคุณธรรมเท่าเทียมกัน การกำหนดให้สิทธิแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในขณะที่บางคนเป็นผู้สูงกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม
สรุปว่า ยุคนี้ถือว่ารัฐที่ดีที่สุดได้แก่รัฐที่มีการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy หรือรัฐผสม Mixed regime)

2. ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ (Modern Political Philosophy)

ลักษณะของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 - 17 เป็นปฏิกิริยาที่มีผลต่อคริสต์ศาสนาที่แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ อันเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของสงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างรัฐที่ไม่หยุดหย่อน
แนวคิดนี้ สังเกตได้จากงานเขียนของ มาเคียเว็ลลี ฮอบส์ และรุสโซ่ เป็นต้น อันเป็นการต่อต้านแนวคิดอุดมการทางคริสต์ศาสนา ซึ่งมีรากฐานอยู่ในปรัชญาการเมืองคลาสสิกอีกทีหนึ่ง นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ แม้จะมีแนวคิดที่ต่างกันมากมาย แต่ที่เห็นร่วมกันคือ การปฏิเสธโครงร่างของปรัชญาการเมืองคลาสสิกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
มาเคียเว็ลลีถือว่าเป็นบิดาของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ เพราะเขาวิจารณ์แนวคิดแบบยุคคลาสสิกว่าเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะไปตั้งสมมติฐานหาเป้าหมายที่คุณธรรมและคิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ทางการเมือง
อันที่จริง ควรเริ่มมองมนุษย์จากแง่ความเป็นจริงว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชั่วร้ายและจะต้องถูกบังคับให้เป็นคนดี สำหรับฮอบส์ก็ปฏิเสธแนวคิดของยุคคลาสสิก ที่เห็นว่ามนุษย์จะดีได้เพราะอาศัยการเมือง เพราะเขาถือว่า ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดต่างหาก เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของความยุติธรรมและศีลธรรม
แนวคิดของนักปรัชญาการเมืองเหล่านี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติการทางการเมืองในยุคปัจจุบันรวมทั้งการศึกษาการเมืองหลายรูปแบบ เช่น
1.) การศึกษาทางการเมืองในเชิงพฤติกรรม
2.) การศึกษาทางการเมืองในเชิงสถาบัน
3.) การศึกษาทางการเมืองตามโครงสร้างทางการเมือง
4.) การศึกษาทางการเมืองตามหน้าที่ทางการเมือง

3. ปรัชญาการเมืองในปัจจุบัน (Contemporary Political Philosophy)

ในปัจจุบันนี้ฐานะของปรัชญาทางการเมืองได้รับความสนใจน้อยลง ทั้งนี้เพราะสังคมศาสตร์ได้ยอมรับเอาข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐานของตน โดยมีความเห็นว่าแนวคิดของโซเครติสในเรื่องความดี ความกล้าหาญ ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว พิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดยุคคลาสสิกเป็นเพียงค่านิยมเท่านั้น
แนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยปัจจุบัน เน้นที่ความเป็นประชาธิปไตยซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดในยุคคลาสสิกโดยถือว่าสังคมจะดีขึ้นหรือเจริญขึ้น ขึ้นอยู่กับสถาบันในสังคม เช่น สถาบันการปกครอง หรือ สถาบันทางเศรษฐกิจเป็นใหญ่ ไม่ใช่การอบรมบ่มนิสัยสร้างบุคคลอย่างที่ยุคคลาสสิกยึดถือ

www.buddhism.rilc.ku.acth.chachawarn/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น